วันนี้เราจะพาทุกท่านมาทำความรู้จักกับความคุ้มครองจาก พ.ร.บ. รถจักรยานยนต์ ว่าให้สิทธิประโยชน์อะไรแก่ใครบ้าง เผื่อว่าในกรณีฉุกเฉินทุกท่านจะสามารถรักษาผลประโยชน์ของตนเองได้เต็มที่
โดยการคุ้มครองของ พ.ร.บ. นั้นจะจำกัดอยู่ที่รถที่มีการทำประกันภัย ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถพ.ศ.2535 เท่านั้น ซึ่งจะให้ความคุ้มครองแก่ผู้ที่ประสบภัยจากรถทั้งผู้ขับขี่และผู้โดยสาร ในกรณีที่ได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิตจากอุบัติเหตุ ซึ่งจะมีความคุ้มครองดังต่อไปนี้
กรณีเกิดอุบัติเหตุแบบไม่มีคู่กรณี
ในกรณีที่เกิดบุติเหตุแบบไม่มีคู่กรณีนั้นมีตัวอย่างเช่น รถล้มจากปัจจัยอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นการมีสิ่งกีดขวางเส้นทางอย่างไม่คาดคิด หรือเสียหลักจากถนนลื่น จนเกิดเหตุและทำให้ได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิต หากผู้ประสบเหตุมี พ.ร.บ. ที่ยังไม่หมดวันคุ้มครองจะได้รับเงินค่าเสียหายดังนี้
ค่าเสียหายเบื้องต้น
ค่ารักษาพยาบาลกรณีได้รับบาดเจ็บ สามารถเบิกได้สูงสุดคนละไม่เกิน 30,000 บาท โดยจ่ายให้ตามจริงเท่านั้น
ค่าชดเชยกรณีเสียชีวิต สูญเสียอวัยวะ ทุพพลภาพ สามารถเบิกสูงสุดคนละไม่เกิน 35,000 บาท
กรณีเป็นผู้ประสบเหตุทั้งสองกรณี กล่าวคือรักษาตัวแล้วเสียชีวิต สามารถเบิกได้สูงสุดไม่เกิน 65,000 บาท
หมายเหตุ หากรถจักรยานยนต์ล้มเองแบบไม่มีคู่กรณี พ.ร.บ. จะคุ้มครองให้ในกรณีที่รถจักรยานยนต์คันนั้นมี พ.ร.บ.รถจักรยานยนต์และยังไม่หมดอายุเท่านั้น นอกเหนือจากนั้นจะไม่อยู่ในครอบข่ายความคุ้มครอง
กรณีเกิดอุบัติเหตุแบบมีคู่กรณี แบ่งเป็น 2 ลักษณะ
พิสูจน์แล้วว่าเป็นฝ่ายถูก
สามารถเบิกค่าสินไหมทดแทนเพิ่มได้โดยที่รวมค่าเสียหายเบื้องต้นแล้ว เป็นวงเงินดังนี้
ค่ารักษาพยาบาลกรณีได้รับบาดเจ็บ สามารถเบิกได้สูงสุดคนละไม่เกิน 80,000 บาท โดยจ่ายให้ตามจริงเท่านั้น
ค่าชดเชยกรณีเสียชีวิต หรือทุพพลภาพ สามารถเบิกสูงสุดคนละไม่เกิน 300,000 บาท
ค่าชดเชยกรณีสูญเสียอวัยวะ
– สูญเสียนิ้ว ตั้งแต่ 1 นิ้วขึ้นไป คนละ 200,000 บาท
– สูญเสียอวัยวะ 1 ส่วน คนละ 250,000 บาท
– สูญเสียอวัยวะ 2 ส่วนขึ้นไป คนละ 300,000 บาท
ค่าชดเชยกรณีรักษาตัวเป็นผู้ป่วยใน ได้รับ 200 บาทต่อวันสูงสุดไม่เกิน 20 วัน
พิสูจน์แล้วว่าเป็นฝ่ายผิด
หากเกิดอุบัติเหตุแล้วพิสูจน์ได้ว่ารถมอเตอร์ไซค์เราเป็นฝ่ายผิด จะได้รับแค่ค่าเสียหายเบื้องต้น แต่ฝ่ายถูกจะได้รับค่าชดเชยเพิ่มเติม
พิสูจน์แล้วว่าเป็นฝ่ายผิด และไม่มี พ.ร.บ.
หากรถจักรยานยนต์เราที่ไม่มี พ.ร.บ. แล้วไปชนผู้อื่น และพิสูจน์แล้วว่าเราเป็นฝ่ายผิด ฝ่ายคู่กรณีสามารถไปเรียกร้องค่าเสียหายเบื้องต้นได้ที่กองทุนทดแทนผู้ประสบภัยจากรถได้ โดยเป็นค่ารักษาพยาบาลได้ตามจริงไม่เกิน 15,000 บาท กรณีที่เสียชีวิต ได้รับชดเชยไม่เกิน 35,000 บาท
จากนั้นทางกองทุนจะไปเบิกคืนจากเจ้าของรถ โดยจะเสียค่าใช้จ่ายดังนี้
ปรับเงินเพิ่มเข้าไปอีก 20% จากที่จ่ายให้ผู้เสียหาย
ค่าปรับความผิดที่ฝ่าฝืนไม่ทำ พ.ร.บ.
ค่าปรับที่นำรถจักรยานยนต์มาวิ่งบนท้องถนนโดยไม่มี พ.ร.บ. ที่มีค่าปรับไม่เกิน 10,000 บาท
ดังนั้นการทำ พ.ร.บ. นั้นเรียกได้ว่าคุ้มครองผู้ที่จ่ายประกันอย่างครอบคลุมและลงโทษผู้ที่ไม่ทำ พ.ร.บ. อย่างเข้มงวด ดังนั้นเพื่อผลดีต่อตัวคุณเองและเพื่อนร่วมทางโปรดต่อ พ.ร.บ. โดยไม่ขาดในทุกปีกันด้วยนะ
ขอขอบคุณบทความดี ๆ จาก www.masii.com